วงเวียน 22 กรกฎาคม เป็นวงเวียนน้ำพุเกิดจากถนน 3 สายตัดกัน คือ ถนนไมตรีจิตต์ ถนนมิตรพันธ์ และถนนสันติภาพ อยู่ในเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร ถนนรอบวงเวียนมีชื่อว่า ถนนวงเวียน 22 กรกฎาคม
วงเวียน 22 กรกฎาคม สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงวันที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงตัดสินพระทัยนำประเทศไทยเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2460 โดยประกาศสงครามกับกลุ่มประเทศฝ่ายมหาอำนาจกลาง ส่งผลให้เมื่อสิ้นสุดสงคราม ประเทศไทยได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การเมืองระหว่างประเทศ และการทหาร รวมทั้งสามารถเรียกร้องแก้ไขและยกเลิกสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ของชาติมหาอำนาจที่เคยทำไว้กับประเทศไทย
บริเวณที่เป็นวงเวียน 22 กรกฎาคม เดิมเคยเป็นชุมชนที่มีคนอยู่อาศัยหนาแน่นมาก ราว พ.ศ. 2460 ได้เกิดไฟไหม้ใหญ่เผาผลาญบ้านเรือนในบริเวณนี้ไปเกือบหมด เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เสนาบดีกระทรวงนครบาล ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ตัดถนนเพื่อความเป็นระเบียบของบ้านเมือง ต่อมาได้โปรดพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ตัดถนนสามสาย บริเวณที่ถนนสามสายนั้นมาตัดกันได้โปรดให้สร้างเป็นวงเวียน พระราชทานนามว่า 22 กรกฎาคม ส่วนถนนสามสายนั้น พระราชทานชื่อว่า ไมตรีจิตต์ - มิตรพันธ์ - สันติภาพ เมื่อแปลความหมายแล้วจะได้ความว่า รอบวงเวียนนั้นมี 6 แยก คือ รัชกาลที่ 6 ทรงประกาศสงครามเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ด้วยไมตรีจิตที่มีต่อฝ่ายสัมพันธมิตรทำให้เกิดสันติภาพ
ปัจจุบันบริเวณวงเวียน 22 กรกฎาคม เป็นแหล่งขายยางรถยนต์ มีร้านขายยางรถยนต์ทั้งใหม่และเก่าจำนวนหลายร้าน และใช้เป็นที่สังเกตปรากฏการณ์สุริยุปราคาแบบไม่เต็มดวงที่เห็นได้ในประเทศไทยในวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 เนื่องจากชื่อสถานที่ตรงกับวันเกิดปรากฏการณ์นี้ ซึ่งนับเป็นปรากฏการณ์สุริยุปราคาที่ยาวนานที่สุดในศตวรรษที่ 21